Tōji vs Taisetsu
2 ทางเลือกของหน้าปัดฤดูหนาว

Tōji vs Taisetsu 2 ทางเลือกของหน้าปัดฤดูหนาว

ผลงานต่อยอดหน้าปัดหิมะสู่ หน้าปัด “Diamond Dust” และ “Iwao”

หน้าปัดสีขาวบริสุทธิ์ดุจหิมะในฤดูหนาว คือ เสน่ห์สำคัญอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้หลายท่านชื่นชอบในเรือนเวลา Grand Seiko ความงามเช่นนี้มาจากไอเดียสุดบรรเจิดของดีไซเนอร์ร่วมกับช่างเทคนิคและช่างฝีมือที่ทุ่มเทคิดค้นและสร้างสรรค์ลักษณะลายผิวที่แตกต่างกันออกมาได้มากมายหลายรูปแบบซึ่งต่างจากผู้ผลิตนาฬิการายอื่น ๆ ที่หากไม่ใช่สีขาวเฉย ๆ ก็อาจรังสรรค์ด้วยการลงยาหรือมีการสลักลายแบบคลาสสิก แต่ Grand Seiko มิได้ทำแค่นั้น เพราะมักนำแรงบันดาลใจจากธรรมชาติแวดล้อมแหล่งผลิตของตนมาจินตนาการเพื่อรังสรรค์เป็นลวดลายที่งดงามไม่เหมือนใครบนผิวหน้าปัด

เริ่มตั้งแต่รูปแบบ “Snowflake” (สโนว์เฟลค) ขาวละมุนตาบนผิวคลื่นเปี่ยมเส้นลายดุจเกล็ดหิมะอย่างรุ่น SBGA211 ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปิดโลกหน้าปัดหิมะของ Grand Seiko ให้เกิดรูปแบบใหม่ ๆ ตามออกมาอย่างเช่น รูปแบบ “Diamond Dust” (ไดมอนด์ ดัสต์) ของรุ่น “Tōji” (โทจิ) SBGE269 และรูปแบบ “Iwao” (อิวาโอะ) ของรุ่น “Taisetsu” (ไทเซตสึ) SBGA415 สองเรือนเวลาจากซีรี่ส์ 24 ฤดู “24 Sekki” (ทเวนตีโฟร์ เซกกิ) ซึ่งทั้งคู่เป็นนาฬิการะบบ “Spring Drive” (สปริง ไดรฟ์) ผลผลิตจาก “Shinshu Watch Studio” (ชินชู วอทช์ สตูดิโอ) อันเป็นคู่เปรียบที่ไม่ง่ายเลยหากให้เลือกเป็นเจ้าของได้เพียงเรือนเดียว

เกล็ดละเอียดบนผิวหน้าปัดแบบ Diamond Dust

ลายหินธรรมชาติบนหน้าปัดแบบ “Iwao” (อิวาโอะ)

หิมะในฤดูหนาวกับ ช่วงเวลาที่แตกต่าง

จินตนาการจากหิมะในฤดูหนาวของ 2 รุ่นนี้ ผิดแผกแตกต่างกันคนละขั้วเพราะ Tōji นั้นเป็นฉากทัศน์ของลำแสงแห่งดวงอาทิตย์ที่สาดส่องผ่านละอองหิมะที่ถูกสายลมพัดพาอันเป็นความแจ่มใสท่ามกลางอากาศหนาว ขณะที่ Taisetsu เป็นบรรยากาศยามหิมะตกหนักให้รู้สึกถึงความหนักหน่วงอันหนาวเหน็บของมวลหิมะที่ปกคลุมขุนเขาท่ามกลางแสงแดด โดยทั้ง Tōji และ Taisetsu ต่างก็เป็น 1 ใน 6 ช่วงเวลาในฤดูหนาวตามการจำแนกของชาวญี่ปุ่นที่ฤดูกาลทั้ง 4 ถูกย่อยอย่างละเอียดออกเป็น 6 ช่วงเวลาต่อฤดูกาล รวมกันเป็น 24 Sekki ต่อ 1 รอบปี โดย Taisetsu จะเป็นช่วงเวลาที่ 3 ก่อนจะต่อด้วย Tōji

จินตนาการสุดวิจิตรของหิมะ สู่สุดยอดผลงานแห่งการดีไซน์

ความหมายของ Tōji คือ ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้โลกมากที่สุดในฤดูหนาวซึ่งกลางวันจะสั้นและมีอากาศแจ่มใสปลอดโปร่ง มีลมพัดพาละอองหิมะลอยละล่องไปตามสายลม เกล็ดละเอียดบนผิวหน้าปัดแบบ Diamond Dust หรือกากเพชรของรุ่นนี้ซึ่งเกิดจากเทคนิคการขัดแต่งอันซับซ้อนก็สื่อถึงฉากทัศน์ขณะดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้าด้วยอนุภาคน้ำแข็งแห่งละอองหิมะที่เปล่งประกายระยิบระยับอยู่ในท้องฟ้าโดยมีเข็ม GMT สีทองกับอักษร GMT สีน้ำตาลทองเปรียบดั่งอาทิตย์ใกล้อัสดงซึ่งสร้างอารมณ์ผ่อนคลายในทุกยามที่ยกข้อมือขึ้นมาดูเวลา

ส่วน Taisetsu นั้นเป็นช่วงเวลาที่หิมะกำลังตกหนักโดยทางดีไซเนอร์ได้จินตนาการถึง “Miyuki” (มิยูกิ) อันหมายถึงมวลหิมะหนาที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนสีเทาจาง ๆ ปกคลุมภูเขากำลังเปล่งประกายสะท้อนกับแสงแดดในห้วงเวลา Taisetsu ของฤดูหนาวมอบอารมณ์ความหนาวเหน็บจับใจด้วยลายผิว 3 มิติที่แปลกและแตกต่างไม่เหมือนใครจากการกดด้วยแม่พิมพ์ที่แกะสลักลายด้วยมือซึ่งเรียกว่าหน้าปัดแบบ Iwao ทั้งสองจึงเป็นตัวแทนแห่งฤดูหนาวที่ให้ความงดงามในรูปแบบของตนเอง ซึ่งการจะเลือกเป็นเจ้าของรุ่นใดรุ่นหนึ่งคงต้องใช้ประสบการณ์และจินตนาการเข้ามาจับ ว่าประทับใจบรรยากาศแบบใดมากกว่ากันระหว่างช่วงเวลาแห่งฤดูหนาวทั้งสอง

ดีไซน์ตัวเรือนแบบ “Elegance” และ “Heritage” ที่มอบความคลาสสิกในอารมณ์ที่ต่างกัน

ข้อพิจารณาต่อมาก็คือ ดีไซน์ตัวเรือนที่ต่างกันระหว่างแบบ “Elegance” (เอเลแกนซ์) อันงามสง่าของรุ่น Tōji ที่มอบความคลาสสิกในอารมณ์ทันสมัย กับแบบ “Heritage” (เฮริเทจ) สุดคลาสสิกของรุ่น Taisetsu ที่รังสรรค์ด้วยแรงบันดาลใจจากรุ่น 62GS ในยุคทศวรรษที่ 60s ซึ่งสวยทั้งคู่แต่ให้อารมณ์ต่างกันไปคนละแนว จึงต้องถามใจตัวเองให้ดีว่าชอบสไตล์ทันสมัยหรือสไตล์ร่วมสมัยมากกว่ากันซึ่งถ้าจะให้ดีก็ต้องไปลองขึ้นข้อดูว่าเรือนใดจะสร้างรอยยิ้มได้มากกว่ากัน 

ขนาด และ หน้าปัดแซพไฟร์ของ 2 ตัวเรือน

อีกทั้งขนาดของตัวเรือนก็อาจมีส่วนช่วยให้ตัดสินใจได้เพราะต่างกันอยู่พอประมาณแม้เส้นผ่านศูนย์กลางจะมีขนาดราว 40 มิลลิเมตรพอ ๆ กัน แต่ความหนา 14 มิลลิเมตร ของรุ่น Tōji และวงขอบตัวเรือนที่กว้างใหญ่ กับความหนา 12.8 มิลลิเมตรและปราศจากวงขอบตัวเรือนของรุ่น Taisetsu คงให้ความรู้สึกที่ต่างกันพอสมควร ส่วนในเรื่องการใช้งานนั้นด้วยความที่ทั้งคู่ใช้กระจกหน้าปัดแซพไฟร์คริสตัลทรงกล่องที่มีแนวขอบสันยกสูงเช่นเดียวกัน จึงต้องระวังกันทั้งคู่ แต่ Taisetsu จะได้เปรียบกว่าเล็กน้อยด้วยความหนาโดยรวมที่บางกว่า โอกาสในการกระแทกจึงน้อยกว่า ทั้งยังซ่อนตัวอยู่ในแขนเสื้อเชิ้ตได้เนียนกว่ากันเล็กน้อย

เคส 62GS ไทเทเนียม กับ เคส Elegance สแตนเลสสตีล

วัสดุตัวเรือนและสายต่างชนิดกันของ 2 รุ่นนี้ ก็เป็นอีกสิ่งที่เข้ามาช่วยในการตัดสินใจว่าจะพึงใจกับความหนักแน่นของสเตนเลสสตีลสีเงินกระจ่างที่ Tōji ใช้หรือจะชอบความเบาสบายแต่แข็งแกร่งและมั่นใจได้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนังจากวัสดุไทเทเนียมสีเทาอ่อน ๆ ละมุนตาของ Taisetsu มากกว่ากัน เพราะทั้งสองเป็นวัสดุที่ดูไม่ต่างกันนักในแง่ของรูปลักษณ์ยามอยู่บนข้อมือแม้สเตนเลสสตีลจะมีประกายแวววาวกว่ากันบ้าง แต่ให้ความรู้สึกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะหากชอบนาฬิกาที่สวมใส่เบาสบายเหมาะกับเป็นเพื่อนคู่ใจยามทำสารพัดกิจกรรมแล้ว Taisetsu ย่อมตอบโจทย์ได้ดีกว่า แต่ก็จะไม่ได้ความรู้สึกมั่นคงจากน้ำหนักหน่วงข้อมือเหมือนกับสเตนเลสสตีลของรุ่น Tōji เป็นแน่

ฟังก์ชั่นการใช้งาน และเสน่ห์ของกลไก Spring Drive

ปัจจัยสุดท้ายที่อาจมีส่วนในการชี้วัดก็คือ ฟังก์ชั่นของกลไก Spring Drive อัตโนมัติที่คาลิเบอร์ 9R66 ของรุ่น Tōji มอบฟังก์ชั่น GMT บอกเวลาอ้างอิงแบบ 24 ชั่วโมงด้วยเข็มกลางมาให้ด้วย ขณะที่ฟังก์ชั่นวันที่และบอกพลังงานสำรอง ไปจนถึงระดับพลังงานสำรองราว 3 วันและอัตราความเที่ยงตรงที่สูงถึงระดับไม่เกิน 1 วินาที/วันหรือไม่เกิน 15 วินาที/เดือน นั้นไม่ได้แตกต่างไปจากคาลิเบอร์ 9R65 ของรุ่น Taisetsu เลยแม้แต่น้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นแค่ปัจจัยเสริมสำหรับบางท่านที่ต้องการฟังก์ชั่นนี้จริง ๆ เท่านั้น เพราะถ้ามองในแง่รูปลักษณ์ที่ช่วยเสริมความน่าสนใจให้กับองค์ประกอบบนหน้าปัดแล้ว เข็ม GMT สีทองของ Tōji จะช่วยส่งอารมณ์แสงทองของดวงอาทิตย์ยามเย็นซึ่งหมายถึงว่ามันเป็นส่วนประกอบหนึ่งของธีมหน้าปัด Tōji ขณะที่เข็มวินาทีสตีลซึ่งผ่านกระบวนการให้ความร้อนจนเป็นสีน้ำเงินของ Taisetsu แม้จะไม่ได้สื่อถึงธีมหน้าปัด แต่ความเด่นของสีน้ำเงินที่กวาดตัวลอยละล่องเรียบเนียนจากการทำงานของระบบ Spring Drive ไปรอบหน้าปัดในทุกวินาทีก็เป็นอะไรที่ชวนมองเป็นยิ่งนัก

    Current :
  • TH
  • EN